คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ เห็นชอบการตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ระดับอำเภอ รวม 25 หน่วย เพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด
วันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 13.30 น. นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 1/258 มีนายแพทย์สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะกรรมการและเลขานุการโรคติดต่อจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยคณะกรรมการจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อทางระบาดวิทยาจังหวัดกระบี่ ที่ต้องเฝ้าระวัง 10 อันดับ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 ดังนี้ ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ
โรคโควิด-19 โรคอาหารเป็นพิษ โรคไข้เลือดออก(DF/DHF/DSS) โรคมือ เท้า ปาก โรคสุกใส โรคซิฟิลิส โรคโกโนเรีย และโรคสครับไทฟัส โดยจังหวัดกระบี่มีการระบาดของโรค
ไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567-30 ธันวาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วย 4,164 ราย อัตราป่วย 868.15 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ 5-9 ปี
รองลงมา กลุ่มอายุ 0-4 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วย
663,173 ราย อัตราป่วย 1,021.65 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 51 ราย ส่วนโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567-31 ธันวาคม 2567 จังหวัดกระบี่ มีผู้ป่วย 574 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อยู่อันดับที่ 36 ของประเทศ มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
(22-28 ธันวาคม 2567) จำนวน 3ราย อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองกระบี่ ส่วนระดับประเทศมีผู้ป่วย 105,250 ราย เสียชีวิต 90 ราย นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่(พ.ศ.2566-2570)จังหวัดกระบี่ อีกทั้งที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ระดับอำเภอ จังหวัดกระบี่ จำนวน 25 หน่วย โดยอำเภอเมืองกระบี่ มี 4 หน่วย ส่วนอีก 7 อำเภอ ๆ ละ 3 หน่วย เพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในพื้นที่รับผิดชอบ
นายแพทย์สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า แม้ว่าจังหวัดกระบี่ยังไม่มีความรุนแรงของโรคระบาด แต่ก็มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวซึ่งอาจทำให้มีโรคแปลกๆเข้ามาได้ ทั้งโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ และโรคติดต่ออุบัติใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการ
อย่างต่อเนื่องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่รวดเร็ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติ
โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกลุ่มโรคติดต่อ 3 กลุ่ม คือ โรคเฝ้าระวัง 57 โรค โรคติดต่ออันตราย 13 โรค และโรคระบาด ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศโรคระบาดแต่อย่างใด
นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการรแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างต่อเนื่องเกือบทุกวัน แต่ปัจจุบันหลังจากที่โรคลดความรุนแรงลงทำให้ไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเกี่ยวกับโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังคงมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามสถานการณ์ปกติ ในส่วนของการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกนั้นแม้ว่าจังหวัดกระบี่จะมีจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่อันดับที่ 36 ของประเทศ และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ปัจจุบันก็ยังคงพบผู้ป่วยเป็นระยะ จึงขอให้มีการรณรงค์เฝ้าระวัง ป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในช่วงก่อนการระบาด ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ควรมีการเก็บ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย หากทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ป้องกันพอถึงช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ก็จะทำให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดน้อยลงด้วย..//////
ส.ปชส.กระบี่ ภาพ/ข่าว
0 ความคิดเห็น